เรียวจิ โนโยริ
เรียวจิ โนโยริ | |
---|---|
โนโยริใน ค.ศ. 2013 | |
เกิด | โคเบะ ประเทศญี่ปุ่น | 3 กันยายน ค.ศ. 1938
สัญชาติ | ชาวญี่ปุ่น |
ศิษย์เก่า | มหาวิทยาลัยเกียวโต |
รางวัล |
|
อาชีพทางวิทยาศาสตร์ | |
สาขา | |
สถาบันที่ทำงาน | |
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอก | ฮิโตชิ โนซากิ |
อาจารย์ที่ปรึกษาอื่น ๆ | อีไลอัส เจ. คอรี |
เว็บไซต์ | www |
เรียวจิ โนโยริ (ญี่ปุ่น: 野依 良治; โรมาจิ: Noyori Ryōji; เกิด 3 กันยายน ค.ศ. 1938) เป็นนักเคมีชาวญี่ปุ่นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีกึ่งหนึ่งใน ค.ศ. 2001 ร่วมกับวิลเลียม สแตนดิช โนลส์ "สำหรับผลงานว่าด้วยปฏิกิริยาไฮโดรจีเนชันที่มีตัวเร่งปฏิกิริยาไครัล" ในขณะที่อีกกึ่งหนึ่งมอบให้กับคาร์ล แบร์รี ชาร์เพลส "สำหรับปฏิกิริยาออกซิเดชันที่มีตัวเร่งปฏิกิริยาไครัล"[2][3][4][5][6][7][8]
ประวัติการศึกษา
[แก้]เรียวจิ โนโยริเกิดที่โคเบะ ในวัยเด็กเขาสนใจฟิสิกส์เนื่องจากพ่อของเขาเป็นเพื่อนสนิทกับฮิเดกิ ยูกาวะ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ใน ค.ศ. 1949 แต่ต่อมาหลังจากเขาได้เห็นการนำเสนอเกี่ยวกับไนลอนในงานแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรม เขาก็เริ่มเบี่ยงเบนความสนใจไปทางด้านเคมีเพราะเห็นว่าเคมีสามารถ "สร้างสิ่งที่มีคุณค่าได้จากสิ่งที่แทบไม่มีค่าอะไรเลย" โนโยริเข้าเรียนในภาควิชาเคมีอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกียวโตและจบการศึกษาระดับปริญญาตรีใน ค.ศ. 1961 และเข้าเรียนต่อระดับปริญญาโทด้านเคมีอุตสาหกรรมที่มหาวิทยาลัยเกียวโตเช่นกัน ระหว่าง ค.ศ. 1963 และ 1967 โนโยริทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกียวโต และเป็นผู้ฝึกสอนในกลุ่มวิจัยของฮิโตชิ โนซากิ เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเกียวโตใน ค.ศ. 1967[9] และเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยเดิมใน ค.ศ. 1968 โนโยริทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกับอีไลอัส เจ. คอรีก่อนจะกลับไปเป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนาโงยะใน ค.ศ. 1972 โนโยริยังคงประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยนาโงยะและนอกจากนี้ยังเป็นประธานของศูนย์วิจัยริเก็ง ศูนย์วิจัยระดับชาติของประเทศญี่ปุ่นระหว่าง ค.ศ. 2003 และ 2015[10]
งานวิจัยและมุมมองด้านวิชาการ
[แก้]โนโยริเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของตัวเร่งปฏิกิริยาและเคมีสีเขียว เขาเขียนบทความหนึ่งใน ค.ศ. 2005 แสดงเจตนามุ่งมั่นไปสู่ "ความสวยงามที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในการสังเคราะห์สาร"[11] ในบทความดังกล่าวโนโยริกล่าวว่า "ความสำเร็จในการคิดค้นวิธีการสังเคราะห์ที่ตรงไปตรงมาและใช้ประโยชน์ได้จริงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความอยู่รอดของมนุษยชาติ" นอกจากนี้เขายังเคยกล่าวด้วยว่า "การวิจัยนั้นเป็นไปเพื่อประเทศชาติและมนุษยชาติ ไม่ใช่เพื่อตัวนักวิจัยเอง" โนโยริยังสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์มีส่วนร่วมทางการเมืองโดยกล่าวว่า "นักวิจัยต้องกระตุ้นความคิดเห็นของประชาชนและนโยบายของรัฐบาลเพื่อไปสู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืนในศตวรรษที่ 21"[12]
โนโยริดำรงตำแหน่งประธานสภาปฏิรูปการศึกษาแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดตั้งโดยอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะหลังขึ้นสู่อำนาจใน ค.ศ. 2006[13]
โนโยริเป็นที่รู้จักจากปฏิกิริยาไฮโดรจีเนชันแบบอสมมาตรโดยใช้สารประกอบโคออร์ดิเนชันของโรเดียมและรูทีเนียมเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา โดยเฉพาะสารประกอบที่มีไบแนปเป็นลิแกนด์อย่างเช่นในปฏิกิริยาไฮโดรจีเนชันแบบอสมมาตรโนโยริ ปฏิกิริยาไฮโดรจีเนชันแบบอสมมาตรของแอลคีนโดยใช้ ((S)-BINAP)Ru(OAc)2 ได้นำไปใช้ในการสังเคราะห์ยาระงับปวดนาโปรเซนในเชิงพาณิชย์ ในขณะที่การสังเคราะห์ยาต้านแบคทีเรียลีโวฟลอกซาซินก็ใช้กระบวนการในลักษณะเดียวกันในการเติมไฮโดรเจนลงในคีโทนโดยใช้สารเชิงซ้อนรูทีเนียม(II) ไบแนปแฮไลด์
โนโยริยังมีผลงานอื่นเกี่ยวกับการสังเคราะห์แบบอสมมาตร ผลงานหนึ่งได้แก่ปฏิกิริยาไอโซเมอไรเซชันของแอลลิลลิกเอมีนซึ่งทากาซาโงะอินเทอร์แนชันนัลคอร์พอเรชันได้นำไปใช้สังเคราะห์เมนทอลซึ่งสามารถผลิตได้ปีละ 3000 ตัน[14]
การเชิดชูเกียรติ
[แก้]รางวัลเรียวจิ โนโยริก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เรียวจิ โนโยริโดยสมาคมเคมีอินทรีย์สังเคราะห์แห่งประเทศญี่ปุ่น
ใน ค.ศ 2000 โนโยริได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแรนเอิง ที่ซึ่งเขาเคยสอนใน ค.ศ. 1995[15] ต่อมาใน ค.ศ. 2005 เขาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิกและมหาวิทยาลัยแอร์เวเทฮาอาเคินในประเทศเยอรมนี และได้รับเลือกเป็นภาคีสมาชิกชาวต่างชาติแห่งราชสมาคมในปีเดียวกัน[1]
รางวัลสำคัญที่เรียวจิ โนโยริได้รับ:
- ค.ศ. 1978 – รางวัลมัตสึนางะ
- ค.ศ. 1982 – รางวัลวัฒนธรรมชูนิจิ
- ค.ศ. 1985 – รางวัลสมาคมเคมีแห่งประเทศญี่ปุ่น
- ค.ศ. 1991 – รางวัลจอห์น จี. เคิร์กวุดจากสมาคมเคมีแห่งสหรัฐและมหาวิทยาลัยเยล
- ค.ศ. 1992 – รางวัลอาซาฮิ
- ค.ศ. 1993 – รางวัลเตตระฮีดรอน
- ค.ศ. 1995 – รางวัลสมาคมญี่ปุ่น
- ค.ศ. 1997 – รางวัลอาร์เทอร์ ซี. โคป
- ค.ศ. 1997 – เหรียญไคราลิตี
- ค.ศ. 1999 – รางวัลสมเด็จพระราชาธิบดีฟัยศ็อล
- ค.ศ. 2001 – รางวัลว็อลฟ์สาขาเคมี
- ค.ศ. 2001 – รางวัลโนเบลสาขาเคมี
- ค.ศ. 2009 – เหรียญทองโลโมโนซอฟ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "Fellowship of the Royal Society 1660-2015". Royal Society. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 15, 2015.
- ↑ Organic synthesis in Japan : past, present, and future : in commemoration of the 50th anniversary of the Society of Synthetic Organic Chemistry, Japan / editor in chief, Ryoji Noyori (1992)
- ↑ Asymmetric catalysis in organic synthesis (1994)
- ↑ T. J. Colacot. "2001 Nobel Prize in Chemistry". Platinum Metals Review 2002, 46(2), 82–83.
- ↑ Ryoji Noyori Nobel lecture (2001)
- ↑ Ryoji Noyori Nobel lecture video (2001)
- ↑ Autobiography
- ↑ Biographical snapshots: Ryoji Noyori, Journal of Chemical Education web site.
- ↑ Ryoji Noyori - website Nagoya University
- ↑ RIKEN News March 24, 2015 [1], Nature News March 24, 2015 [2]
- ↑ Noyori, Ryoji (2005). "Pursuing practical elegance in chemical synthesis". Chemical Communications (14): 1807–11. doi:10.1039/B502713F. PMID 15795753.
- ↑ Keynote address, June 23, 2005, at the Second International Conference on Green and Sustainable Chemistry, Washington DC.
- ↑ Abe panel wants kids in class more, plus harsher discipline | The Japan Times Online. Search.japantimes.co.jp (January 20, 2007). Retrieved on 2011-06-27.
- ↑ Japan: Takasago to Expand L-Menthol Production in Iwata Plant. FlexNews. January 10, 2008
- ↑ (ในภาษาฝรั่งเศส) Ryoji Noyori, honorary doctorate awarded Nobel Prize เก็บถาวร มีนาคม 26, 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Rennes1 campus, November–December 2001
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เรียวจิ โนโยริ ที่ Nobelprize.org including the Nobel Lecture December 8, 2001 Asymmetric Catalysis: Science and Technology